EP.1 Types of Audio Compressors
สวัสดีครับ ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นกูรูที่ตั้งตัวยกตัวขึ้นมาเป็นปรมาจารย์ริอ่านจะมาสอนคนอื่นในวงการนี้ ซึ่งผมมั่นใจว่ายังมีบุคคลที่เก่งกาจกว่าผมอีกเยอะ แต่บทความที่ผมกำลังจะนำเสนอนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผมพิจารณาว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่กำลังศึกษาหรือกำลังฝึกฝนหาความรู้ในด้านการมิกซ์และทำงานด้านนี้ แน่นอนว่าหลายๆ ท่านที่กำลังเรียนรู้เรื่องพวกนี้อยู่ต้องเคยได้ยินและใช้งานมาแล้วนั้นคือ Compressor ผมจะไม่มาอธิบายละว่ามันคืออะไร มีบทความมากมายลองค้นหาดูนะครับ แต่สำหรับคนที่เคยใช้เคยผ่านมือมาแล้วหลายท่านอาจจะเป็นเหมือนผม ซึ่งในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ๆ เมื่อเรารู้แล้วว่าคอมเพรสเซอร์มันทำอะไรได้ และมันก็มีหลายค่ายหลายยี่ห้อ วิธีหนึ่งก็คือเห็นเขานิยมใช้ตัวไหนเราก็สรรหามาใช้บ้าง เรียนรู้วิธีใช้นิดหน่อยเป็นอันใช้ได้มันก็เป็นวิธีที่ประหยัดเวลาดีเหมือนกันเพราะเราเชื่อว่าคนที่นำเสนอมาก่อนเราเขาต้องเก่งกว่าเรา เขาคงใช้ได้ดีจริงๆ จึงเลือกคอมเพรสเซอร์รุ่นนั้นมาใช้ แต่พอผ่านมาสักระยะตัวนั้นก็ว่าดี ตัวนี้ก็ว่าดี ลองมั่วไปหมด บางค่ายบางรุ่นทำหน้าตาที่แตกต่างออกไป บางรุ่นมีแค่ 2 ปุ่ม บางรุ่นมีออปชั่นมาให้แบบจัดเต็ม บางรุ่นจำลองมาจากฮาร์ดแวร์รุ่นยอดฮิต แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเข้าใจและทราบลักษณะของคอมเพรสเซอร์ที่เราจะนำมาใช้ว่ามันมีลักษณะเป็นแบบไหน เพราะประเภทของคอมเพรสเซอร์ที่เราเลือกจะมีบทบาทสำคัญในเสียงโดยรวมด้วยเช่นกัน คอมเพรสเซอร์บางประเภทจะมีเวลา “โจมตี” และ “ปล่อย” เร็วกว่าประเภทอื่น และบางส่วนจะมีสิ่งที่เรียกว่า “coloration” หรือพูดง่ายๆ คือมีสไตล์ กลิ่นอายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งหลักๆ แล้วคอมเพรสเซอร์สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท (แต่บางที่แบ่งเป็น 5 ประเภท)
Types of Audio Compressors
VCA Compression
ย่อมาจากคำว่า Voltage Controlled Amplifier เป็นคอมเพรสเซอร์ประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด และมักจะมีพารามิเตอร์ทั้งหมดที่คุณพบในปลั๊กอินเช่น attack, release, threshold, ratio, knee, etc. ส่วนใหญ่นิยมใช้กับ mix bus หรือ instrument groups ปลั๊กอินในกลุ่มนี้ที่นิยมเช่น
SSL G bus compressor, SSL channel strips ที่ให้ความกลมกลืนของมิกซ์ มีความกึ่งโปร่งใส่ไม่ทึบ
API 2500 compressor ที่นิยมใช้งานกับกลุ่มเครื่องดนตรีกลองเพราะให้ความ Punch ของเสียงได้อย่างดี
dbx 160 เป็นตำนานอีกตัวที่อยากแนะนำมีชื่อเสียงในการใช้งานกับ bass, electric guitar และ drum bus เป็นอย่างดี
*คำแนะนำลองใส่ SSL G series buss compressor ลง mix bus และปรับค่าเวลาโจมตีประมาณ 30 ms และ ค่าเวลาปล่อยประมาณ 100 ms ปรับค่าให้บีบอัดประมาณ 2–3 dB เป็นอะไรที่น่าลองเป็นอย่างมาก
Optical Compression
คอมเพรสเซอร์แบบออปติก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘opto’ การทำงานของคอมเพรสเซอร์ประเภทนี้สัญญาณเสียงจะไปกระตุ้นอุปกรณ์กำเนิดแสง (เช่น LED) ซึ่งส่องบนตัวต้านทานที่ไวต่อแสง โดยสัญญาณอินพุตจะกระตุ้นแหล่งกำเนิดแสงดังกล่าวภายในคอมเพรสเซอร์ซึ่งจะส่องสว่างขึ้นหรือหรี่ลงเพื่อให้ตัวต้านทานที่ไวต่อแสงแจ้งให้วงจรบีบอัดทราบว่าจะลดทอนสัญญาณเสียงแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับของอินพุต คอมเพรสเซอร์แบบออปติกมักจะให้เสียง ‘ไพเราะ’ และ ‘ราบรื่นละมุน’ พวกมันไม่ได้เร็วและดุดันเหมือนคอมเพรสเซอร์ประเภท FET และก็ไม่ได้สะอาดและหนักแน่นเหมือน VCA ให้ลักษณะเสียงที่เป็นธรรมชาติ
*เทคนิคอยากแนะนำคือ ใส่คอมเพรสเซอร์ประเภท FET ในขั้นแรกเพื่อจับทรานเซียนท์ที่คมชัดที่สุด และลงท้ายด้วยออปโตคอมเพรสเซอร์เพื่อทำให้เสียงมีความกลมกลืน ราบรื่น คอมเพรสเซอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของออปติคัลคอมเพรสเซอร์คือ Teletronix LA-2A มีหลายค่ายที่จำลองมาเป็นปลั๊กอินให้เลือกใช้ นิยมเอาใช้กับ Vocal และ Bass แต่ยังมีอีกรุ่นคือ LA-3A ที่พัฒนาต่อยอดตามหลังออกมาด้วยลักษณะการทำงานที่คล้ายกันแต่จะมีเวลาโจมตีและปล่อยที่เร็วขึ้นกว่า LA-2A จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อนำมาใช้งานที่แตกต่างกัน เช่นการใช้งานกับ rhythm guitar, electric และ acoustic
FET Compression
FET ย่อมาจาก “Field Effect Transistor” เป็นการทำงานโดยอาศัยทรานซิสเตอร์เพื่อลดอัตราขยาย คอมเพรสเซอร์เหล่านี้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อสามารถตั้งค่าเวลาในการโจมตีและปล่อยได้ในทันที เวลาโจมตีของคอมเพรสเซอร์ FET ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดอยู่ในช่วง 20–800 ไมโครวินาที (หนึ่งในล้านของวินาที) ซึ่งหมายความว่าแม้แต่การโจมตีที่ช้าที่สุดก็ยังสั้นกว่าหนึ่งมิลลิวินาที ด้วยความเร็วแบบฟ้าผ่านั้น FET compressors มักจะทำให้เกิดความผิดเพี้ยนเล็กน้อยและ Colour ให้กับสัญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณกดพวกมันอย่างดุดัน
ด้วยเหตุนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ FET ในส่วนของ mix bus และในส่วนขั้นตอน mastering แต่มันใช้งานได้ดีกับเสียงร้อง กีตาร์ กลองใหญ่ สแนร์ และอื่นๆ ในขั้นตอน Mixing คอมเพรสเซอร์ FET ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตลอดกาลคือ UREI 1176 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1960 มีหลายค่ายจำลองเป็นปลั๊กอินให้เลือกใช้อีกเช่นกัน ที่นิยมใช้กันมากเห็นจะเป็นค่าย UAD แต่ Waves ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ส่วนตัวผมอีกค่ายที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ ARTURIA COMP FET-76 ปลั๊กอินนี้เป็นตัวที่จำลองมาจากโมเดล D/E ของ Urei 1176 ผมว่าเขาทำออกได้ดีเลยทีเดียว
*คำแนะนำที่หลายคนพลาด การตั้งค่าการโจมตีและปล่อย เลข 1 คือค่าเวลาที่ช้าที่สุด เลข 7 คือค่าเวลาที่เร็วที่สุด
“Delta-Mu” (Variable-mu) Compression
คอมเพรสเซอร์ที่เก่าแก่กว่าชนิดอื่นๆ ใช้ Tube หรือหลอดสูญญากาศในวงจร คอมเพรสเซอร์ประเภทนี้มักจะมีการตอบสนองช้ากว่าเมื่อเทียบกับคอมเพรสเซอร์ประเภทอื่น ให้โทนเสียงที่ “หนา” “เหนียว” และ “อุ่น” ลักษณะการโจมตีแบบ soft-knee (Gain Reduction จะค่อยๆทำงาน) จะทำให้การ compress มีความ smooth อย่างมาก คอมเพรสเซอร์ประเภทนี้มักจะนิยมใช้กันใน instrument หรือ mix buses
แต่ต้องระมัดระวังเวลาใช้กับเสียงที่มี Transient เยอะๆ เพราะ Attack ที่ช้าของมันจะทำให้ Transient หายไป คอมเพรสเซอร์ประเภทนี้ที่เป็นที่นิยมคือ Fairchild 670 มีค่ายปลั๊กอินที่จำลองออกมาอย่าง Waves Puigchild และ UAD’s Fairchild 670
*คำแนะนำ ถ้าท่านกำลังมองหาโทนเสียงแบบวินเทจ ลองตั้งค่า time-constant ประมาณ 1–3 และยังจะส่งผลให้ได้เสียงที่หนักแน่นขึ้นด้วย
PWM Compressors (ประเภทที่ 5 )
คอมเพรสเซอร์เสียงประเภทนี้มักถูกมองข้าม แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพพอๆ กับประเภทอื่นๆ ก็ตาม หลักการคือใช้สัญญาณพัลส์ความถี่สูงเพื่อทริกเกอร์ค่าเปิด/ปิด และควบคุมแอมพลิจูดเฉลี่ยของสัญญาณเมื่อเวลาผ่านไป
คอมเพรสเซอร์ PWM เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความโปร่งใสและมีการโจมตีและปล่อยอย่างรวดเร็ว ปลั๊กอินที่จำลองมาจากตัวฮาร์ดแวร์ในตำนานอย่าง Pye compressor คือ Waves Kramer PIE Compressor